พระมงคลเทพมุนี สด จันทสโร
ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย
ครูผู้เป็นต้นแบบแห่งความดี
พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) หรือบางท่านรู้จักในชื่อ “หลวงปู่วัดปากน้ำฯ”เป็นพระวิปัสสนาจารย์ผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งของประเทศไทย โดยสิ่งที่ท่านสอนคือการปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายในตัว โดยมีอมตะวาจาว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ”
สมัยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านเป็นผู้มีศีลาจารวัตรอันน่าเลื่อมใส มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของมหาชนว่า ท่านเป็นพระภิกษุที่มีวัตรปฏิบัติอันงดงาม และคุณธรรมที่สูงส่ง สมบูรณ์ทั้งด้านปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เทศนา
เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่มีความอดทน ความเพียรพยายาม และมีความสามารถในการบริหารวัด ปกครองพระภิกษุสามเณร อีกทั้งยังได้ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ตั้งสำนักเรียนทั้งนักธรรมและบาลี สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่ทันสมัยที่สุด วัดจึงเจริญขึ้นมาโดยลำดับ กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาบาลีและเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติธรรมในสมัยนั้น
สิ่งที่ทำให้หลวงปู่เป็นที่รักเคารพของพระภิกษุสามเณรและสาธุชนทั่วไป นั่นก็คือความรักความเมตตาที่หลวงปู่มีให้กับทุก ๆ คน ประดุจความรักอันบริสุทธิ์ของบิดาที่มีแต่ความปรารถนาดีต่อบุตร และยังเน้นสอนธรรมะปฏิบัติตามแนววิชชาธรรมกาย ที่เป็นขั้นเป็นตอนอย่างชัดเจน จนมีชื่อเสียงเป็นลำดับต้นๆของประเทศ ทำให้มีพระภิกษุสามเณร และสาธุชนเข้ามาขอศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก
ด้วยความเมตตาอันไม่มีประมาณของหลวงปู่ที่ท่านรู้ว่า วิธีการที่จะทำให้ทุกคนบนโลกใบนี้ได้พบความสุขที่แท้จริงในชีวิต นั่นคือการปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ท่านมุ่งมั่นสอนสมาธิเพื่อเข้าการเข้าถึงธรรมกายภายในให้แก่ผู้สนใจศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดอายุขัยของท่าน จนสามารถขยายวิธีการปฏิบัติธรรมนี้ ไปได้กว้างไกลทั้งภายในและต่างประเทศ จากหลักร้อย เป็นหลักแสน จากรุ่นสู่รุ่น จนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนี้
ประวัติชีวิตของหลวงปู่
หลวงปู่ถือกำเนิดในตระกูล “มีแก้วน้อย” พ่อชื่อ นายเงินและ แม่ชื่อ นางสุดใจ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2427 ที่บ้านสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี สมัยเด็กท่านเรียนหนังสือกับพระภิกษุน้าชายที่วัดสองพี่น้อง และศึกษาอักษรขอมที่วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม จนเขียนอ่านได้คล่อง หลังจบการศึกษาเบื้องต้น ออกมาช่วยบิดามารดาค้าขาย ซื้อข้าวบรรทุกเรือ ล่องมาขายให้โรงสีในกรุงเทพฯ และนครชัยศรี เป็นคนรักงาน ขยันขันแข็ง ทำอะไรทำจริง การค้าจึงเจริญโดยลำดับ จนมีฐานะดียิ่งขึ้น
เมื่อท่านอายุได้ 14 ปีโยมบิดาได้ถึงแก่กรรมลง ท่านจึงรับภาระดูแลการค้าแทน ท่านเป็นผู้ฉลาดในการปกครอง ลูกน้องต่างก็รักนับถือท่านและเนื่องจากท่านเป็นคนขยันขันแข็งในการทำงาน อาชีพการค้าจึงเจริญขึ้นโดยลำดับ จนปรากฏในยุคนั้นว่า ท่านเป็นผู้มีฐานะดีคนหนึ่ง
เข้าใจความจริงของชีวิต
เมื่อท่านอายุ 19 ปี วันหนึ่ง ท่านนำเรือเปล่ากลับบ้านพร้อมเงินรายได้จากการขายข้าว ผ่านลัดคลองเล็กซึ่งชาวบ้านเรียกว่า คลองบางอีแท่น มีโจรผู้ร้ายชุกชุม ท่านนึกถึงความตายขึ้นมา และได้อธิษฐานจิตในขณะนั้นว่า
“ขอเราอย่าได้ตายเสียก่อนเลย ขอให้ได้บวชเสียก่อน เมื่อบวชแล้วจะไม่ลาสิกขา ขอบวชไปจนตลอดชีวิต”
“การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นลำบาก บิดาของเราก็หามาอย่างนี้ ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่รีบหาให้มั่งมี ก็เป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีใครนับหน้าถือตา เข้าหมู่เพื่อนบ้านก็อับอาย ไม่เทียมหน้าเขา บุรพชนต้นสกุลก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกัน จนถึงบิดาเราและตัวเราในบัดนี้ ก็คงทำอยู่อย่างนี้ ก็บัดนี้บุรพชนทั้งหลายได้ตายไปหมดแล้ว แม้เราก็จักตายเหมือนกัน เราจะมัวแสวงหาทรัพย์อยู่ทำไม ตายแล้วเอาไปไม่ได้ บวชดีกว่า “
เมื่อตกลงใจว่าเมื่อได้บวชแล้ว จะไม่สึก จิตคิดเป็นห่วงมารดาเกิดขึ้น จึงขะมักเขม้นทำงานสะสมทรัพย์ เพื่อให้มารดาเอาไว้ใช้เลี้ยงชีพไปจนตลอดชีวิต
อุปสมบท
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2449 ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีฉายาว่า จนฺทสโร
เมื่ออุปสมบทแล้ว พอรุ่งขึ้นอีกวัน หลวงปู่ก็เริ่มลงมือปฏิบัติพระกรรมฐานต่อกับพระอาจารย์เนียม วัดน้อย อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนในการเรียนด้านคันถธุระในพรรรษาแรก ท่านสงสัยอยากรู้คำแปล ของคำว่า อวิชฺชาปจฺจยา ซึ่งไม่มีใครทราบ ท่านจึงเกิดความคิดที่จะไปเรียนคันถธุระต่อที่กรุงเทพฯ
เมื่อออกพรรษาที่วัดสองพี่น้องแล้ว ท่านจึงเดินทางมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จังหวัดกรุงเทพ เพื่อศึกษาด้านคันถธุระต่อ นอกจากนี้แล้ว ท่านก็มักไปแสวงหาครูสอนฝ่ายปฏิบัติสมถะ-วิปัสสนาอยู่เสมอๆ โดยการศึกษากับพระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในสำนักต่างๆ จนได้ผลการปฏิบัติเป็นที่พอใจของพระอาจารย์ เมื่อได้ศึกษาภาวนาวีธีจนมีความรู้ความเข้าใจ ทั้งจากพระอาจารย์ทั้งจากพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ
วันบรรลุธรรม
ปี พ.ศ.2460 ในช่วงพรรษาที่ 11 ย่างเข้าพรรษาที่ 12 ท่านได้เดินทางจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปจำพรรษาที่ ณ วัดโบสถ์ (บน) ตำบลบางคูเวียง นนทบุรี อันเป็นสถานที่สงบวิเวก
ในวันพระ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ปี พ.ศ.2460 หลังจากได้ลงโบสถ์ร่วมฟังสวดพระปาติโมกข์กับหมู่สงฆ์แล้ว หลวงปู่ท่านได้เข้าไปนั่งสมาธิที่ในโบสถ์ ต่อหน้าพระประธาน แล้วได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า
“ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้า ทรงประทานธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้วเป็นคุณและเกิดประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานธรรมะอันยิ่งใหญ่นั้นด้วยเถิด ข้าพระองค์ขอรับเป็นทนายแก้ต่างในศาสนาของพระองค์ไปจนตลอดชีวิต แต่หากข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้วเป็นโทษแก่ศาสนาและไม่เกิดประโยชน์ ข้าพระพุทธเจ้าจักขอสละชีวิตปฏิบัติธรรมเป็นพุทธบูชาเพียงเท่านั้น”
ในที่สุดท่านนั่งสมาธิจนใจหยุดนิ่ง ได้พบกายภายในที่เป็นกายตรัสรู้ธรรม เป็นองค์พระปฏิมานั่งขัดสมาธิ ที่บนยอดพระเศียรเป็นลักษณะเกตุดอกบัวตูม ทั้งวรกายบริบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการใส สว่าง งดงามไม่มีที่ติ การปฏิบัติธรรมจนถึงระดับนี้ เรียกว่า “เข้าถึงธรรมกาย” ท่านค้นพบว่าภายในกายของมนุษย์ทุกคนมีกายที่ละเอียดซ้อนเป็นชั้นๆอยู่ และทุกคนสามารถเข้าถึงธรรมกายได้
หลังจากที่บรรลุธรรมเข้าถึงธรรมกายแล้ว ท่านเห็นในสมาธิว่า จะมีผู้เข้าถึงธรรมกายตามท่าน ณ วัดบางปลา ภายหลังจากออกพรรษา หลวงปู่ได้ย้ายจากวัดโบสถ์บนไปที่วัดบางปลา ซึ่งอยู่ที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม ซึ่งท่านได้สอนให้พระสงฆ์และสาธุชนฝึกสมาธิที่วัดบางปลา 4 เดือน ทำให้มีพระภิกษุ 3 รูปและคฤหัสถ์อีก 4 คน บรรลุธรรมตามอย่างท่าน
เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ
เมื่อปี พ.ศ.2461 ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงภาษีเจริญ (สังกัดการปกครองคณะสงฆ์) ได้อาราธนาให้หลวงปู่มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดปากน้ำ ซึ่งท่านได้เดินทางมาจำพรรษาพร้อมกับพระภิกษุผู้ติดตาม 4 รูป
หลวงปู่เป็นคนพูดจริงทำจริง การปกครองวัดจะเข้มงวด แต่ด้วยความที่ชอบการศึกษา จึงส่งเสริมและสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างสุดกำลังความสามารถ ควบคู่ไปกับการอบรมทางจิตใจ
กิจวัตรที่ปฏิบัติเป็นอาจิณ คือ การคุมภิกษุ สามเณรลงทำวัตรทุกเช้าและเย็น วันพระและวันอาทิตย์จะลงแสดงธรรมในโบสถ์เองเป็นนิจ นำพระให้ไปนั่งภาวนารวมอยู่กับท่านทั้งกลางวันและ กลางคืน และทุกวันพฤหัสบดี เวลาบ่ายสอง จะลงสอนการนั่งสมาธิแก่ภิกษุ-สามเณร อุบาสกอุบาสิกา
ในปี พ.ศ.2500 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ พระมงคลเทพมุนีและมรณภาพอย่างสงบ เมื่อปี พ.ศ.2502 ที่ตึกมงคลจันทสร วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สิริรวมอายุ 75 ปี พรรษา 53
คุณธรรมของหลวงปู่
หากเราพิจารณาถึงคุณลักษณะเด่น ๆ ของหลวงปู่เราจะทราบได้ว่าเพราะเหตุใดท่านจึงยืนหยัดในการทำความดีได้อย่างมั่นคง สามารถเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ จนสามารถเผยแผ่วิชชาธรรมกายให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายแก่บุคคลทั่วไปในยุคนั้นได้
ดังนั้น การศึกษาอัตชีวประวัติของหลวงปู่ จึงเป็นการเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาของบุคคลผู้เป็นแบบอย่างในการทำความดีจากเหตุการณ์ต่าง ๆที่เกิดขึ้นจริง เพื่อนำมาเป็นกรณีศึกษา ปรับเข็มทิศชีวิต ให้สามารถดำเนินไปในแนวทางที่ถูกต้อง อีกทั้งยังสามารถนำคุณธรรมของท่านมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในการทำความดีและปฏิบัติตามท่านได้
การตั้งเป้าหมายชีวิตที่มั่นคง
ความมีจิตใจที่มั่นคงแน่วแน่ของหลวงปู่ในการตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น เห็นได้จากเหตุการณ์ครั้งเมื่อท่านล่องเรือค้าข้าวผ่านคลองบางอีแท่น ซึ่งเป็นแหล่งโจรผู้ร้ายชุกชุม ทำให้ท่านต้องถือปืนคอยระวังภัยอยู่ท้ายเรือ เมื่อผ่านคลองบางอีแท่นมาได้แล้ว ท่านได้คิดพิจารณาเห็นว่า บุรพชนต้นสกุลเรื่อยมาจนถึงบิดาของท่านได้มีความยากลำบากและเสี่ยงภัยอันตราย อีกทั้งยังเสียเวลาทั้งชีวิตไปกับเรื่องการแสวงหาทรัพย์สมบัติ แต่เมื่อตายไปแล้วกลับไม่สามารถนำทรัพย์สมบัติเหล่านั้นติดตัวไปได้แม้สักชิ้นเดียว ตัวท่านเองวันหนึ่งก็ต้องตายเหมือนกัน คิดได้ดังนั้นท่านจึงตั้งเป้าหมายที่จะออกบวชตลอดชีวิตนับแต่นั้นเป็นต้นมา แม้กาลเวลาจะผ่านไปเป็นปีท่านก็ยังคงรักษาเจตนารมณ์ไว้เช่นเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลง
สละชีวิตทางโลกเพื่อแสวงหาธรรม
เมื่อท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุตามความตั้งใจที่มีมาแต่เดิมแล้ว ท่านก็มิได้บวชไปวันๆ แต่กลับเพียรพยายามและทุ่มเทเวลาเพื่อศึกษาธรรมทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติควบคู่กันไปเป็นเวลานานหลายปี จนมีความแตกฉานสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อื่นได้
การแสวงหาความรู้กับพระอาจารย์ซึ่งเป็นพระนักปฏิบัติกรรมฐานจากสำนักต่างๆ อยู่เสมอมิได้ขาดตลอดระยะเวลาหลายปีของท่านนั้นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าท่านได้รักษาสัจจะที่ให้ไว้กับตัวเองในการออกบวชเพื่อแสวงหาธรรมที่เป็นแก่นแท้ของชีวิตอย่างแท้จริง ชีวิตในเพศสมณะของหลวงปู่จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างที่สุดสมความตั้งใจที่ท่านยอมสละชีวิตทางโลกอย่างไม่คิดเสียดายทรัพย์สมบัติที่มีอยู่
ความเด็ดขาด เอาจริงเอาจัง
ด้วยอุปนิสัยเอาจริงเอาจัง เมื่อตั้งใจจะทำสิ่งใดก็มุ่งมั่นทำสิ่งนั้นจนสำเร็จลุล่วง ครั้นเมื่อหลวงปู่ปรารถนาต้องการรู้เห็นธรรมตามแบบอย่างที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ ท่านจึงเพียรปฏิบัติสมาธิอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาดมาเป็นเวลาหลายปี มิได้ย่อท้อ จนกระทั่งความพยายามได้สำเร็จผล ทำให้ท่านค้นพบวิธีการเข้าถึงธรรมกายตามแบบอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการทำใจหยุดนิ่งให้สนิทจนเป็นหนึ่งเดียวกัน นี่จึงเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “หยุด เป็นตัวสำเร็จ”
ดังจะเห็นได้ว่าการค้นพบวิธีเข้าถึงธรรมกายของหลวงปู่นั้นไม่ใช่สิ่งบังเอิญที่ได้มาอย่างง่าย ๆ แต่นั่นเป็นเพราะความเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่น และทุ่มเทชีวิตเพื่อการปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมขององค์พระศาสดาโดยไม่ย่อท้อของหลวงปู่ เมื่อยังปฏิบัติไม่ได้ก็ไม่ยอมเลิกราหรือละทิ้งความตั้งใจที่มีอยู่ กลับเพียรพยายามแสวงหาครูบาอาจารย์ และปฏิบัติด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด
ดังนั้นคุณธรรมของหลวงปู่ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เราสามารถนำมาเป็นหลักปฏิบัติเพื่อเป็นต้นแบบในการทำความดีและพัฒนาผลการปฏิบัติธรรมของเราให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นได้
กตัญญูบูชา ด้วยการหล่อรูปเหมือนหลวงปู่ทองคำ
พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านได้เห็นถึงความยากลำบากของการเข้าถึงธรรมกายภายใน อันเป็นวิธีปฏิบัติเพื่อการเข้าถึงธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เคยหายสาปสูญไปยาวนาน ว่าเป็นสิ่งที่มีความลึกซึ้ง และมีคุณค่ายิ่งนัก ตลอดชีวิตของท่าน จึงอุทิศเวลาทั้งหมดเพื่อสอนธรรมปฏิบัติอย่างจริงจัง จนกระทั่งกิตติศัพท์คุณความดี และคุณวิเศษเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศ
การสืบทอดมโนปณิธานนับตั้งแต่ยุคหลวงปู่ฯ มาสู่ลูกศิษย์จำนวนมาก หนึ่งในนั้นก็คือ คุณยายมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง สืบเนื่องจนมาสู่ยุคปัจจุบัน คือ พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย ซึ่งมีผู้นำในการสอนธรรมะปฏิบัติ โดยมีวัดพระธรรมกายเป็นศูนย์กลางแห่งการสร้างความดี สร้างคนดีเพื่อเป็นต้นแบบให้สังคม ประเทศ ขยายไปจนทั่วโลก
ด้วยความสำนึกในพระคุณอันไม่มีประมาณของหลวงปู่ ที่ทำให้พวกเราทุกคนรู้จักคำว่า วิชชาธรรมกาย และรู้ถึงคุณค่าของการเกิดมาเป็นมนุษย์เพื่อสั่งสมบุญสร้างบารมี ลูกหลานหลวงปู่ และศิษยานุศิษย์ทั่วโลกจึงพร้อมใจกันแสดงความกตัญญูบูชาด้วยการหล่อรูปเหมือนหลวงปู่ทองคำ ประดิษฐาน ณ สถานที่สำคัญต่าง ๆ ทั้ง 7 แห่งตามอัตชีวประวัติการสร้างบารมีของท่าน เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเป็นแบบอย่างในการสร้างความดีตามรอยมหาปูชนียาจารย์ต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ
สถานที่สำคัญ 7 แห่ง บนเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
1.สถานที่เกิด : อนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (แผ่นดินรูปดอกบัว จ.สุพรรณบุรี)
2.สถานที่ตั้งมโนปณิธานบวชตลอดชีวิต : คลองบางนางแท่น จ.นครปฐม
3.สถานที่อุปสมบท : วัดสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี
4.สถานที่บรรลุธรรม : วัดโบสถ์บน บางคูเวียง
5.สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกายครั้งแรก : วัดบางปลา
6.สถานที่ค้นคว้าและเผยแผ่วิชชาธรรมกาย (จนกระทั่งมรณภาพ) : วัดปากน้ำภาษีเจริญ
7.สถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกายไปทั่วโลก : วัดพระธรรมกาย
ครูต้นแบบในการดำเนินชีวิต
ชีวิตคนเรานั้นโดยเฉลี่ยแล้ว ประมาณ 70-80ปี ซึ่งไม่ยาวนานพอที่จะลองผิดลองถูกได้หลายๆครั้ง ยิ่งถ้าตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ผิด ดำเนินชีวิตไปในทางที่ผิด ก็จะเสียเวลาไปตลอดทั้งชีวิตได้ ดังนั้น การหาครูผู้เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตไปในเส้นทางที่ถูกต้องนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ท่านจะบอกถึงเป้าหมายชีวิตที่ถูกต้อง คือการเข้าถึงธรรมะภายใน อันจะนำซึ่งความสุขที่แท้จริง อันเป็นที่พึ่งอันสูงสุดของชีวิต และยังบอกถึงหลักการ การดำเนินชีวิตที่จะเป็นประโยชน์ทั้งตนเองและผู้อื่น คือ ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใสด้วยการทำสมาธิ นอกจากนี้ยังสอนให้รู้ถึงวิธีการเพื่อที่จะไปให้ถึงเป้าหมายชีวิตนั้น
หากไม่มีหลวงปู่เป็นต้นแบบในการสั่งสมบุญและสร้างคุณงามความดี ก็คงต้องเสียเวลาเพื่อค้นหา เป้าหมายชีวิตที่แท้จริงคือ การเข้าถึงความสุขภายใน จึงนับได้ว่าหลวงปู่ท่านมีพระคุณอันใหญ่หลวง ที่ศิษยานุศิษย์ทุกคนควรหาโอกาสตอบแทนพระคุณให้แก่ท่านด้วยสิ่งที่ดี และมีคุณค่าที่สุด นั่นคือ การปฏิบัติเพื่อน้อมบูชาธรรม ด้วยการหยุดใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ซึ่งเป็นแหล่งแห่งเนื้อนาบุญที่ดีที่สุด บริสุทธิ์ที่สุด
การทำใจหยุดใจนิ่ง ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เพื่อน้อมบูชาธรรมหลวงปู่ฯ นอกจากจะเป็นการแสดงถึงความกตัญญูของพวกเราแล้ว ยังเป็นการสานต่อมโนปณิธานของหลวงปู่ ที่ต้องการจะเผยแผ่วิชชาธรรมไปทั่วโลกให้เป็นความจริง เพราะเมื่อเราปฏิบัติธรรมจนสามารถเข้าถึงความสุขจากภายในที่แท้จริงได้ กระแสแห่งความสุขนั้นย่อมแผ่ขยายไปสู่ภายนอกดึงดูดใจให้คนทั่วไปอยากเข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อแสวงหาความสุขที่แท้จริง
กิจกรรมวัดพระธรรมกาย
เพื่อน้อมบูชาธรรมแด่พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร)
ในวันคล้ายวันเกิดของพระเดชพระคุณหลวงปู่ของทุกปี เหล่าศิษยานุศิษย์ทุกคนทั่วโลกจึงร่วมกันจัดงานบุญต่าง ๆ เพื่อน้อมบูชาธรรมแด่พระเดชพระคุณหลวงปู่ ในฐานะที่ท่านมีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาที่สามารถนำ “วิชชาธรรมกาย” ของพระบรมศาสดา ให้หวนกลับมาให้ชนรุ่นหลังได้ปฏิบัติตามอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับในวันที่ 10 ตุลาคม ปีนี้ ทางวัดพระธรรมกายจึงขอเชิญชวนลูกหลานหลวงปู่ และพุทธศาสนิกชนทั่วโลกมาร่วมแสดงความกตัญญูด้วยการสวดมนต์ เจริญสมาธิ และแผ่เมตตา พร้อมคณะสงฆ์ทั้งในและต่างประเทศ นับหมื่นรูป พร้อมกันทั่วทุกมุมโลก ผ่านแอปพลิเคชั่น ซูม เพื่อน้อมบูชาธรรมแด่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ สด จันทสโร และสั่งสมบุญกุศลให้แก่ตัวเอง พร้อมอธิษฐานจิตขอให้โลกพ้นจากภัยต่าง ๆ กลับคืนสู่ความสงบสุขโดยเร็วพลัน