วันอาสาฬหบูชา

วันที่ 13 กรกฎาคม 2565

วัดพระธรรมกาย ประเทศไทย

ความสำคัญ

วันอาสาฬหบูชา  หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ  เดือน 8   เป็นวันแสดงการบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเพื่อรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย  วันอาสาฬหบูชา ถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งทางพระพุทธศาสนา  เพราะมีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการ  ได้แก่

  1. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
  2. เป็นวันที่พระพุทธศาสนามีปฐมสาวก หรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้พระสาวกเป็นรูปแรก
  3. เป็นวันที่พระสงฆ์รูปแรกเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา คือ พระอัญญาโกญฑัญญะ และยังเป็นพระภิกษุสงฆ์องค์แรกที่ได้รับการอุปสมบทแบบ เอหิภิกขุอุปสัมปทา
  4. เป็นวันที่พระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ในวันนั้นจึงเป็นวันที่นอกจากพระพุทธองค์ได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาให้ปรากฎแก่คนทั้งหลายเป็นครั้งแรกแล้ว  ยังเป็นวันที่ปรากฎประจักษ์พยานในการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์เป็นคนแรกว่าธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วนั้นเป็นของจริง  สามารถปฏิบัติจนหลุดพ้นจากกิเลสได้จริง ภายหลังจากที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาบทแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงจบลง คือ บทธัมมจักกัปปวัตนสูตร วันนี้จึงนับเป็นวันแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเผยแผ่ธรรมในพระพุทธศาสนาให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

ประวัติวันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชามีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล  กล่าวคือภายหลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์ทรงใช้พุทธจักษุตรวจดูหมู่สัตว์  จึงทรงทราบว่าระดับสติปัญญาในการพิจารณาธรรมของแต่ละบุคคลในโลกเปรียบเสมือนดอกบัว 4 เหล่า  คือ

  1. ดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ บุคคลผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้และเข้าใจได้ทันที
  2. ดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำ บุคคลผู้มีสติปัญญาดีปานกลาง เมื่อได้ฟังธรรม และได้รับการฝึกฝนอบรมเพิ่มเติมเล็กน้อย ก็จะสามารถรู้และเข้าใจธรรมได้ในเร็ววัน
  3. ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ  บุคคลผู้มีสติปัญญาน้อย  แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ  เมื่อได้ฟังธรรมและได้รับการฝึกฝนอบรมอยู่เสมอโดยใช้ระยะเวลา และความพยายามที่มากพอ จะสามารถรู้และเข้าใจธรรมได้
  4. ดอกบัวที่จมอยู่ในโคลนตม  บุคคลผู้ไร้สติปัญญา เป็นมิจฉาทิฏฐิ  แม้ว่าจะได้ยินได้ฟังธรรมก็ไม่สามารถเข้าใจได้เลย

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระพุทธองค์จึงทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสชิ  ที่เคยดูแลอุปัฏฐากพระพุทธองค์ครั้งเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญเพียรทุกรกิริยา พระองค์จึงทรงเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตมฤคทายวัน   เมื่อพระพุทธองค์ได้คลายความลังเลสงสัย  และทิฏฐิของปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ลงได้ และทรงเห็นว่าบัดนี้ท่านปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 พร้อมรับฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้ว  จึงทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร    ในขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมอยู่นั้น  ท่านโกณฑัญญะ ได้พิจารณาธรรมไปตามลำดับ  จนเมื่อพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว  ท่านได้ดวงตาเห็นธรรม  (บรรลุโสดาปัตติผล ) เป็นคนแรก  ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เองจึงทำให้พระพุทธศาสนามีพระรัตนตรัยครบองค์ 3 ประการคือ  พุทธรัตนะ  ธรรมรัตนะ  สังฆรัตนะ

ความสำคัญของบทธัมมจักกัปปวัตนสูตร

ธัมมจักกัปปวัตนสูตร  เป็นปฐมเทศนา หรือพระธรรมเทศนาบทแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5  ภายหลังจากที่ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คือ พระธรรมที่ว่าด้วยเรื่องการหมุนกงล้อแห่งธรรมให้เคลื่อนไปเปรียบประดุจธรรมราชรถ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาจะใช้บรรทุกหรือขนเวไนยสัตว์ทั้งหลายออกจากห้วงแห่งสังสารวัฏไปสู่ดินแดนอันเกษมคือนิพพาน  โดยมีพระพุทธองค์ทรงเป็นสารถี

สาระสำคัญของบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  ว่าด้วยข้อปฏิบัติที่บุคคลไม่พึงกระทำ  2  ประการ คือ

1.ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจให้แสวงหา หรือยึดติดความสุขอันเกิดจากกามคุณทั้ง 5 มากเกินไป (กามสุขัลลิกานุโยค) 

2.ไม่ให้สร้างความลำบากเดือดร้อนให้แก่ตนเองทั้งทางร่างกายและจิตใจอันเป็นการทรมานตนเองโดยหาประโยชน์ไม่ได้  (อัตตกิลมถานุโยค) 

เพราะการปฏิบัติตนดังกล่าวทั้ง 2 ประการ เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์   และไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่ความสุขที่แท้จริงอย่างที่ใจปรารถนา  แต่ให้ปฏิบัติตนตามทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา  ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติอันเป็นไปเพื่อความสงบระงับของจิตใจ  และเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การดับกิเลส ตัณหา ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ได้อย่างแท้จริง

มัชฌิมาปฏิปทา เป็นการปฏิบัติตนตามหลัก 8 ประการคือ มรรคมีองค์ 8 อันได้แก่

  1. สัมมาทิฏฐิเห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
  2. สัมมาสังกัปปะดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
  3. สัมมาวาจาเจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
  4. สัมมากัมมันตะกระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
  5. สัมมาอาชีวะอาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
  6. สัมมาวายามะพยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
  7. สัมมาสติระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
  8. สัมมาสมาธิตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน

ดังนั้นการปฏิบัติตนตามหลักมรรคมีองค์ 8  จึงเป็นการปฏิบัติที่นำไปสู่การรู้แจ้งใน อริยสัจ 4 คือ              

1.ทุกข์ คือ ทุกข์              

2.สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์              

3.นิโรธ คือ ความดับทุกข์              

4.มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จริง (มรรมีองค์ 8)

หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ภิกษุทั้ง 5 เป็นปฐมเทศนาแล้ว พระองค์มิได้ตรัสแสดงพระสูตรนี้แก่ผู้ใดอีกเลย  พระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเทศนาตลอดระยะเวลา 45 พรรษาแห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น  ล้วนแต่ทรงแสดงธรรมกถาเพื่อขยายความแต่ละหมวดหัวข้อธรรมที่ปรากฎในธัมมจักกัปปวัตนสูตร หรือปฐมเทศนาทั้งสิ้น

ความสำคัญของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

พระพุทธ

พระองค์ทรงค้นพบความจริงอันประเสริฐนี้ด้วยตัวพระองค์เอง และทรงนำมาสั่งสอนบอกกล่าวแก่ชาวโลก      หากพระพุทธองค์ไม่มาบังเกิด  ก็จะไม่มีผู้ใดรู้เรื่องบุญบาปและการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร   ชาวโลกก็จะดำเนินชีวิตด้วยความประมาทเป็นเหตุให้ไปสู่อบายภูมิได้ง่าย   ด้วยเหตุดังนี้  การเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเปรียบประดุจแสงสว่างที่ยิ่งกว่าแสงสว่างใดๆบนโลก  เพราะเป็นแสงสว่างที่นำไปสู่หนทางแห่งการพ้นทุกข์และการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฎฏสงสาร

พระธรรม

โลกนี้ล้วนเต็มไปด้วยความทุกข์และการเวียนว่ายตายเกิดอย่างหาที่สุดไม่ได้  เป็นความจริงที่ทุกชีวิตต้องเผชิญไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ธรรมะของพระพุทธองค์จึงมีเนื้อหาที่สอนเกี่ยวกับสาเหตุแห่งทุกข์  และวิธีการดับทุกข์   นั้น  นั่นคือ  อริยสัจ 4   ซึ่งหากใครนำไปปฏิบัติตามจะสามารถทำให้พ้นทุกข์ได้ ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีหลากหลายหัวข้อธรรมลุ่มลึกไปตามลำดับตั้งแต่แนวทางปฏิบัติเพื่อการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม  จนกระทั่งถึงวิธีการปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะและการเวียนว่ายตายเกิด  ดังนั้นผู้ต้องการแสวงหาความหลุดพ้นจากกิเลส  ก็สามารถเลือกหัวข้อธรรมเพื่อนำไปปฏิบัติได้ตามความเหมาะสมแก่สถานภาพของตน   

พระสงฆ์

พระภิกษุสงฆ์ คือสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เป็นผู้ที่สละชีวิตทางโลกเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์  โดยยึดถือข้อวัตรปฏิบัติที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนเพื่อมุ่งสู่การหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ นับตั้งแต่สมัยพุทธกาลภายหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงประกาศพระพุทธศาสนาแล้ว  นอกจากพระองค์จะเสด็จจาริกเพื่อทำหน้าที่เผยแผ่พระธรรมคำสอนด้วยพระองค์เอง  พระองค์ยังได้ส่งพุทธสาวกออกไปทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา ทำให้พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองและแผ่ขยายไปอย่าง​กว้างขวาง ผู้คนเป็นจำนวนมากพากันละทิ้งลัทธิเดิมแล้วหันมานับถือเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้น   แม้พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพานไปเป็นเวลานานแล้ว  แต่พระภิกษุสงฆ์ก็ยังคงทำหน้าที่เทศน์สอนธรรมะ และเป็นครูสอนศีลธรรม  สอนหลักในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข  ให้แก่คนทั่วไปมาโดยตลอด

วันอาสาฬหบูชากับ world peace

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งสันติภาพที่ใช้ธรรมะเป็นหลักในการดำเนินชีวิต  คำสอนส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติเพื่อให้ใจมีความสงบ ระงับจากกิเลสตัณหาซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจเร่าร้อน และเกิดความโลภ โกรธ หลง 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวพุทธมีนิสัยรักความสงบ ไม่ชอบการใช้ความรุนแรง  แม้กระทั่งการเผยแผ่คำสอนก็มิได้บังคับให้ใครเชื่อ  แต่มุ่งให้บุคคลพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุผล และเข้ามาพิสูจน์ด้วยการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง

ดังนั้น หากมนุษย์ทุกคนปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์จนกระทั่งกิเลสที่เกาะเกี่ยวจิตใจเริ่มเบาบางลง  เมื่อนั้นความโลภ โกรธ หลง ความเห็นแก่ตัวย่อมลดลงมาตามลำดับ  ความมีเมตตาและปรารถนาดีต่อกันย่อมบังเกิดขึ้นแทนที่  หากทุกคนบนโลกทำได้เช่นนี้ สันติภาพย่อมบังเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

จะเห็นได้ว่าคำสอนของพระพุทธองค์มีคุณค่าและความสำคัญถึงเพียงนี้ ดังนั้นในวันอาสาฬหบูชานี้ เราจะมารำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพระพุทธองค์ได้ตรัสแสดงธรรมเป็นครั้งแรกในวันนั้น  และนั่งสมาธิ แผ่เมตตา เพื่อให้เกิดสันติสุขไปทั่วโลกพร้อมๆกัน

กิจกรรมวันอาสาฬหบูชาวัดพระธรรมกาย

ในวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่เหล่าพุทธบริษัททั้ง 4 ได้พร้อมใจกันเข้าวัดฟังธรรม และประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่ทางวัดจัดขึ้น  เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา  พร้อมระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยอันไม่มีประมาณ

ในวันนี้คณะสงฆ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วทุกนิกายจำนวน 10,000 กว่ารูป ต่างมีความพร้อมใจกันมาร่วมประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์  ปฏิบัติสมาธิภาวนา  และแผ่เมตตาในเวลาเดียวกัน  เพื่อให้โลกนี้เกิดความสงบสุข ร่มเย็น  ปราศจากการเบียดเบียน ล้างผลาญชีวิตอันบริสุทธิ์ด้วยประการทั้งปวง  นอกจากเราจะได้น้อมถวายเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพูนบุญกุศลให้แก่ตัวเอง อีกทั้งยังสามารถอุทิศบุญไปให้แด่หมู่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว อีกด้วย 

ดังนั้นเมื่อเหล่าพุทธบริษัท 4 ทั่วทั้งโลกพร้อมใจมาร่วมสวดมนต์  เจริญสมาธิ  และแผ่เมตตาในช่วงเวลาเดียวกันด้วยใจที่บริสุทธิ์โดยการหยุดใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ใจมีพลังมากที่สุด  ย่อมก่อให้เกิดกระแสบุญอันบริสุทธิ์มารวมตัวกันเป็นดวงบุญอันยิ่งใหญ่  ซึ่งดวงบุญนี้มีอานุภาพมากมายอย่างไม่มีประมาณสามารถเปลี่ยนเหตุการณ์ที่เลวร้ายต่าง ๆ ให้กลายเป็นดีได้    

อีกทั้งภาพแห่งบุญนี้จะดลใจให้แก่ผู้ที่พบเห็นเกิดความศรัทธา และเกิดแรงบันดาลใจให้อยากเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนา  ซึ่งหากภาพเหล่านี้ถูกกระจายออกไปสู่สายตาของผู้คนทั่วทุกมุมโลกจนสามารถสร้างความศรัทธาให้เกิดแก่ผู้คนเหล่านั้นจนกระทั่งมาปฏิบัติสมาธิร่วมกันได้ หากเป็นเช่นนี้สันติสุขคือความสงบสุขของใจที่เกิดภายในตัวเองย่อมก่อให้เกิดสันติภาพภายนอก คือสันติภาพโลก ได้อย่างแน่นอน     

ดังนั้นจึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกคนทั่วโลกมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสันติภาพให้บังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้  ด้วยการร่วมกิจกรรมผ่าน  zoom ในเวลาเดียวกัน ตามกำนดการดังกล่าว

กำหนดการ วันอาสาฬหบูชา (ออนไลน์)

ร่วมจุดประทีป และนั่งสมาธิพร้อมกันทั่วโลก

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม  2565 ณ วัดพระธรรมกาย

 

19:00 น.       จุดประทีปโคมเอก / บูชาพระรัตนตรัย / กล่าวคำถวายประทีปเป็นพุทธบูชา

19:30 น.       คณะสงฆ์ทั่วโลกเจริญพระพุทธมนต์ผ่าน ZOOM / นั่งสมาธิปฏิบัติธรรม

20:50 น.       อธิษฐานจิต / แผ่เมตตา

21:00 น.       เสร็จพิธี

———————–

พิธีฉลองชัยสวดมนต์บทธัมมจักร 4,555,555,555 จบ