หลวงพ่อทัตตชีโว

ผู้เป็นครูบาอาจารย์ของพวกเราทั้งหลาย

“เผด็จ.. ขอให้หมั่นรักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี ต่อไปข้างหน้า ชื่อของคุณไปถึงไหน พระพุทธศาสนาจะไปถึงนั่น”

          ไม่ทราบว่าจะเป็นด้วยมีญาณหยั่งรู้ หรือเพราะดูจากหน่วยก้าน ของเด็กหนุ่มที่ทุ่มเทเอาจริงเอาจังกับการฝึกสมาธิ ส่อแววว่าจะเอาดีทางนี้ได้ จึงทำให้พระวิปัสสนาจารย์ชื่อดัง หลวงพ่อบุญธรรม วัดเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี ได้กล่าวคำทำนายนี้ไว้ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ เพียงไม่กี่ปี

        วันเวลาผ่านพ้นไปกว่า 50 ปี บวกกับบุญบารมีที่สั่งสมทับทวีมากขึ้นเป็นลำดับ จากเด็กหนุ่มวัย 17 ปีในวันนั้น จนกระทั่งมาเป็น พระมหาเถระวัย 80 กว่าปี เกียรติคุณของท่าน หลวงพ่อทัตตชีโว (เผด็จ ทัตตชีโว) แห่งวัดพระธรรมกาย ก็เลื่องลือ ไปทั่วทั้งแผ่นดิน สมดังคำทำนายดังกล่าว

         บนเส้นทางกว่าค่อนโลกที่ท่านจาริกผ่านไป ทำให้มหาชนมากมาย ได้ดื่มสัมผัสกับความสว่างไสวและสันติสุขที่ท่านนำไปมอบให้

         ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมา ไม่ว่าท่านจะต้องตรากตรำทำหน้าที่ หรือมีอุปสรรคมากน้อยเพียงใด ก็ยังไม่เคยมีใครได้ยินคำว่า “ไม่ไหว” หลุดออกมาจากปากของท่านแม้เพียงสักครั้ง

          ท่านถือคติว่า นักสร้างบารมีต้องไม่มีข้อแม้เงื่อนไข ไม่หวั่นไหวย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ ทั้งสิ้น ฉะนั้น ท่านจึงได้ทุ่มเททำงานสร้างบารมี อย่างสุดชีวิต ทั้งการฝึกฝนอบรมตนให้งดงามตามพระธรรมวินัย และการสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ตลอดจนการสร้างวัด สร้างพระ สร้างคน และสร้างสันติสุขแก่ชาวโลก

“ทัตตชีโว แปลว่า ผู้ถวายชีวิตแล้วแด่พระศาสนา”

นั่นคือ มโนปณิธานอันแน่วแน่ของหลวงพ่อหรือ คุณครูไม่เล็ก ผู้เป็นต้นบุญต้นแบบของนักสร้างบารมีท่านนี้

หลวงพ่อธัมมชโย กล่าวถึงหลวงพ่อทัตตชีโว
บทบาทของหลวงพ่อทัตตชีโวในการสร้างวัดพระธรรมกาย
คำสอนของ หลวงพ่อทัตตชีโว

 เส้นทางในการสร้างบารมี 

หลวงพ่อทัตตชีโว มีนามเดิมว่า เผด็จ  ผ่องสวัสดิ์ ท่านถือกำเนิดในครอบครัวชาวไร่ในจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2483  โยมบิดาชื่อ นายสุน ผ่องสวัสดิ์ โยมมารดา ชื่อ นางฮวย ผ่องสวัสดิ์

อาศัยที่โยมบิดาของท่านเป็นคนขยันขันแข็งและมีวิสัยทัศน์กว้างไกลกว่าชาวไร่ธรรมดาทั่วไป จึงได้พยายามเคี่ยวเข็ญอบรมลูก ๆ ทุกคนจนได้ดีทั้งด้านการศึกษาและความประพฤติ  อีกทั้งอุปนิสัยของหลวงพ่อก็เป็นคนใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาและใส่ใจในการฝึกสมาธิมาตั้งแต่วัยรุ่น ในช่วงที่ท่านเรียนอยู่ชั้นมัธยมที่โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรีนั้น ความที่ท่านเป็นนักอ่านหนังสือตัวยง รักการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ อ่านดะไปหมดทุกประเภท กล่าวได้ว่าหนังสือในห้องสมุดประจําจังหวัดมีเท่าไรก็ล้วนผ่านตาท่านมาแล้วทุกเล่ม

หนังสือที่ท่านสนใจมากเป็นพิเศษก็คือ หนังสือเกี่ยวกับการฝึกสมาธิ โดยเฉพาะวิธีการฝึกสมาธิในคัมภีร์วิสุทธิมรรค คัมภีร์โบราณซึ่งรจนาโดยพระพุทธโฆษาจารย์ หลังจากอ่านคัมภีร์นี้แล้วทำให้ท่านอยากฝึกสมาธิเป็นอย่างมาก และเมื่อฝึกด้วยตัวเองไม่ได้ผล จึงต้องดั้นด้นแสวงหาอาจารย์สอนสมาธิ แต่เจ้ากรรม หาไปหามาบังเอิญไปพบ อาจารย์ที่ฝึกสมาธิเพื่อประโยชน์ทางอิทธิฤทธิ์เข้าก่อน ก็เลยทำให้ท่านหลงทางไปช่วงหนึ่ง ไปฝึกวิชาหนังเหนียว รูดโซ่ ลุยไฟ สะเดาะกลอน สารพัด ตอนนั้นไม่รู้เลยว่าวิชาที่ฝึกอยู่นั้นเป็นวิชามาร หลงผิดคิดว่าเป็นวิชาพระ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ค้างคาใจท่านอยู่ตลอดเวลาก็คือความสนใจใคร่จะรู้เรื่องนรก-สวรรค์ ดังนั้นแม้จะได้ร่ำเรียนวิชาที่ทำให้มีอิทธิฤทธิ์มามากเพียงใด แต่วิชาเหล่านี้ก็ไม่สามารถดับความกระหายใคร่รู้เรื่องนรก-สวรรค์ได้เลย ท่านจึงยังคงเสาะแสวงหาผู้รู้ในเรื่องนี้เรื่อยมา บางครั้งถึงกับดั้นด้นไปตามป่าตามเขา ไปฝึกสมาธิกับพระเกจิอาจารย์ ต่าง ๆ พอมีโอกาสก็มักจะซักไซ้ไต่ถามเรื่องนรก-สวรรค์แทบทุกครั้งไป แต่ก็ยังไม่เคยได้รับคำตอบที่ชัดเจนถูกใจเลยสักครั้งเดียว บางท่านถึงจะบอกว่านรก-สวรรค์มีจริง เทวดานางฟ้ามีจริง แต่ก็เป็นเพียงแค่ความเชื่อตามที่เคยศึกษามา ยังไม่กล้ายืนยันว่าเคยเห็นเคยไปมาแล้วสักราย

เมื่อเส้นทางบุญยังไม่เปิด ท่านก็เลยหมกมุ่นคึกคะนองอยู่กับเรื่องหนังเหนียว รูดโซ่ ลุยไฟ ไปอีกระยะหนึ่งตามประสาวัยรุ่น จนกระทั่งจบจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแล้วไปศึกษาต่อที่คณะ เกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2503

 พบยอดกัลยาณมิตร 

อย่างไรก็ดี เมื่อบุญเก่าของท่านมาถึง จึงมีอันทำให้ได้มาพบกับยอด กัลยาณมิตรก่อนที่จะหลงทางเลยเถิดไปไกลจนกู่ไม่กลับ นั่นคือ หลังจากที่ท่านเพิ่งกลับจากประเทศออสเตรเลียเพื่อมาเรียนเก็บวิชา ระดับปริญญาตรีสาขาสัตวบาล ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้มีโอกาสพบกับหลวงพ่อธัมมชโยซึ่งตอนนั้นยังเป็นนิสิตรุ่นน้องปี 4 เป็นเหตุการณ์ที่ท่านจำได้ติดใจไม่มีวันลืม

วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509 ซึ่งเป็น วันลอยกระทง คืนนั้นท่านหิ้วขวดเหล้าไปรินแจกรุ่นน้องกลุ่มหนึ่งซึ่งปรากฏว่าบรรดาน้อง ๆ ต่างก็รับไปดื่มโดยดี แต่มีอยู่คนเดียวที่ปฏิเสธ แถมยังเป็นการปฏิเสธด้วยเหตุผลที่กระทบใจท่านอย่างมากว่า ถือศีล เพราะท่านเองก็เคยถือศีล 5 มาก่อน  ตอนฝึกสมาธิเพื่อเรียนวิชาอยู่ยงคงกระพัน ทำให้นึกสะกิดใจอยู่ลึก ๆ ว่าน้องคนนี้ไม่ธรรมดา แต่เสียท่าที่คืนนั้นเมาหนักไปหน่อยจึงจำหน้าไม่ได้ และก็ไม่ได้ถามชื่อเอาไว้ด้วย

รุ่งขึ้นพอสร่างเมา จึงเที่ยวเสาะหาตัวน้องคนที่บอกว่าถือศีลคนนั้นจนเจอ มารู้ภายหลังว่าชื่อ ไชยบูลย์ สุทธิผล ครั้นพอได้เห็นหน้า ได้พูดคุยกันโดยไม่มีฤทธิ์สุรามาบดบัง จึงนึกชอบ รู้สึกถูกอัธยาศัย อยากรับไว้เป็นศิษย์คู่ใจ หวังจะถ่ายทอดวิชาอยู่ยงคงกระพันให้ แต่ก่อนที่จะถ่ายทอดวิชาให้ก็ต้องขอสอบภูมิธรรมกันหน่อย ต่อมาจึงมีการซักใช้สอบภูมิธรรมกัน เริ่มจากคำถามพื้น ๆ ไปก่อน หนักเข้าก็เอาถึงขั้นเปิดพระไตรปิฎกถามกันเลยทีเดียว ความที่ท่านเองอ่านตำรามามาก คำถามก็เลยมากเป็นธรรมดา การสอบภูมิ  ทำกันอยู่หลายวันจนไข้ขึ้นด้วยกันทั้งคู่ ถามข้อไหนก็ตอบได้ทุกข้อ ต้อนไม่จนสักที จากที่เคย ตั้งใจจะรับไว้เป็นศิษย์ก็ชักลังเล เพราะดูแล้วภูมิธรรมของฝ่ายผู้น้อง สูงกว่าท่านมาก 

เหลือคำถามสำคัญขั้นตัดสินเรื่องสุดท้ายคือเรื่องนรก-สวรรค์ ครั้นพอถามเรื่องนี้ไปแล้วก็นึกในใจว่า ถ้าตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้อย่างที่คนอื่นตอบก็คงยกย่องได้แค่เป็นพระไตรปิฎกเคลื่อนที่ แต่ทว่าคำตอบที่ได้รับกลับเป็นคำตอบที่ชัดถ้อยชัดคำ ยืนยันขันแข็งด้วยความมั่นใจอย่างเต็มที่ว่า นรกมีจริง สวรรค์มีจริง ผู้ที่สามารถไปดูนรกไปดูสวรรค์ได้ ยังมีชีวิตมีตัวตนอยู่ คือคุณยายอาจารย์จันทร์ ขนนกยูง เป็นแม่ชีอยู่ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

      เชื่อเถอะพี่เด็จ จริงล้านเปอร์เซ็นต์เลย แล้วถ้าพี่เด็จอยากเห็น นรก-สวรรค์ด้วยตนเอง ท่านก็จะสอนให้

ครั้นเมื่อได้ประจักษ์และยอมรับในภูมิรู้ภูมิธรรมของรุ่นน้องคนนี้ แล้ว นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ท่านจึงได้ยกหลวงพ่อธัมมชโยขึ้นไว้ในฐานะครูบาอาจารย์ฯ แม้จะเป็นรุ่นน้องก็ตาม แต่ท่านก็ละทิฐิยอมตัวเป็นศิษย์ด้วยความเต็มใจ ถือเป็นการก้าวข้ามความยึดมั่นในระบบอาวุโสที่ค่อนข้างเข้มข้นในรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตลอดมา เวลาอยู่ด้วยกันก็ให้นั่งให้นอนสูงกว่า เพื่อเป็นการให้เกียรติให้ความเคารพเกรงใจ

 พบคุณยายอาจารย์ฯ 

คําบอกเล่าของหลวงพ่อธัมมชโย ว่าคุณยายอาจารย์ฯ เป็นผู้รู้จริงเห็นจริงเรื่องนรก-สวรรค์ และท่านยินดีจะสอนให้ ทำให้หลวงพ่อทัตตชีโวดีใจจนสุดประมาณ แต่การที่จะได้พบ คุณยายอาจารย์ฯ ก็มิใช่เรื่องง่ายนัก เพราะความที่คุณยายอาจารย์ฯ ท่านเป็นแม่ชี สูงอายุ รักความสงบเรียบร้อย ไม่ชอบคนเอะอะมะเทิ่ง หลวงพ่อธัมมชโยจึงรั้งตัวท่านไว้เพื่อปรับพื้นฐานการทำสมาธิเบื้องต้นและปรับปรุงเรื่องกิริยามารยาทให้พร้อมก่อน เกือบ 3 เดือนจึงได้พาไปพบคุณยายอาจารย์ฯ

พอได้พบคุณยายอาจารย์ฯ ครั้งแรกก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ในตัวท่านขึ้นมาทันทีราวกับเคยมีความผูกพันกันมาก่อน อารามดีใจทําให้ลืมคํามั่นสัญญาที่ให้ไว้กับผู้อาสาพามาเสียสิ้น จึงโพล่งถามขึ้นว่า

       “ยาย คุณไชยบูลย์เขาว่ายายพาไปดูนรก-สวรรค์ได้ จริงมั้ย”

      “จริง ยายเคยไปช่วยพ่อขึ้นจากนรกมาแล้ว”

เมื่อเจอคําตอบตรงเผงไม่อ้ำอึ้งแบบนี้เข้า ท่านก็บอกกับตัวเองทันทีว่า ตอนนี้ได้เจอคนจริงที่ตามหามานานแสนนานแล้ว ความศรัทธายิ่งทับทวีขึ้นมาอย่างท่วมท้น แต่ยังไม่วายถามต่อ

     “แล้วอย่างผมนี่ ไปดูได้ไหม”

     “ได้สิ คุณน่ะมีบุญมากอยู่แล้ว จึงได้มาถึงที่นี่ไงล่ะ อย่างนี้ ฝึกไม่นานหรอก”

นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา จิตใจของหลวงพ่อ ผูกพันอยู่กับคุณยายอาจารย์ฯ ยอมมอบกายถวายชีวิตให้ท่านอบรมบ่มนิสัยโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น ราวกับเคยเป็นศิษย์อยู่ในความปกครองของท่านมาแล้วหลายภพหลายชาติ

สําหรับการฝึกสมาธิกับคุณยายอาจารย์ฯ ในช่วงแรก ๆ นั้น ท่านต้องสู้ทนฝ่าฟันกับอุปสรรคไม่น้อย นั่นคือพอนั่งสมาธิไปสักพักก็มักเกิดอาการอึดอัดหายใจไม่ออกกระอักกระอ่วนสุดทรมานจนแทบจะทน ไม่ไหว ก็ได้อาศัยคุณยายอาจารย์ฯ ช่วยคุม ช่วยแก้ไขให้จนกระทั่ง อาการดังกล่าวทุเลาเบาบางหายไป โดยท่านบอกถึงสาเหตุเรื่องนี้ว่า

       “คุณฝึกไสยศาสตร์มามาก อาจารย์เก่า ๆ เขาไม่ยอมให้คุณเปลี่ยนทาง เขามาขวางไว้”

ความที่ท่านเป็นคนมีจิตใจเด็ดเดี่ยวมั่นคง มีน้ำใจ ทำอะไรทำจริง ทุ่มเททั้งชีวิต ในไม่ช้าธรรมะของท่านก็ก้าวหน้าเป็นลำดับ จนได้ขยับฐานะขึ้นมาเป็นผู้ช่วยสอนสมาธิแก่ผู้มาปฏิบัติธรรมที่บ้านธรรมประสิทธิ์ในวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สำหรับเหตุผลว่าทำไมคุณยายอาจารย์ฯ จึงมอบหมายให้ท่านเป็นผู้ช่วยสอนสมาธินั้น มาได้คำตอบภายหลังจากหลวงพ่อธัมมชโยว่า

       “คุณยายชมว่าพี่เด็จเป็นคนไม่มีมานะถือตัว รู้จักสร้างงานแล้ว ยังเป็นคนมีกตัญญู ยายว่าอะไรไม่เคยโกรธ ท่านว่าพี่เด็จไม่มีนิสัยคดในข้องอในกระดูก เป็นครูคนได้”

หลังจากที่หลวงพ่อธัมมชโย ได้สละเพศฆราวาส สู่เพศบรรพชิตอุทิศชีวิตเป็นพุทธบูชาเมื่อปี พ.ศ. 2512 แล้ว คุณยายอาจารย์ จึงมีดำริจะสร้างวัดเพื่อเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  ตามหน้าที่ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำท่านมอบหมายไว้ก่อนที่จะมรณภาพ คุณยายอาจารย์ฯ ได้นำหมู่คณะที่บ้านธรรมประสิทธิ์อธิษฐานจิตขอให้ได้ที่ดินสำหรับสร้างวัดอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นไม่นาน พอปลายปี พ.ศ. 2512 ก็ได้ที่ดินสร้างวัดสมความตั้งใจ โดยการบริจาคของคุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี จำนวน 196 ไร่ ที่จังหวัดปทุมธานี ครั้นได้ที่มาแล้วก็เริ่มลงมือสร้างวัดกันทันทีตั้งแต่ต้นปีพ.ศ. 2513

ตอนนั้น แม้ว่าหลวงพ่อทัตตชีโว กำลังมีหน้าที่การงานก้าวหน้าในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งแล้วก็ตาม แต่เมื่อลงมือสร้างวัด ท่านก็ตัดสินใจลาออกจากงานทิ้งรายได้ ทิ้งตำแหน่งหน้าที่ดี ๆ ที่ชาวโลกปรารถนา เพื่อมาอยู่รักษาแผ่นดินและควบคุมการก่อสร้างวัดอย่างเต็มเวลา เรียกว่ายอมทุบหม้อข้าว เอาชีวิตเป็นเติมพันกันเลยทีเดียว

 เพศบรรพชิต 

แม้ว่าหลวงพ่อทัตตชีโว ได้ตั้งสัจจะว่าจะประพฤติ พรหมจรรย์ตลอดชีวิตมาตั้งแต่ต้นปีพ.ศ. 2513 แล้วก็ตาม แต่ในช่วงแรก ๆ นั้นท่านก็ยังคร่ำเคร่งอยู่กับงานสร้างวัด ไม่คิดถึงเรื่องบวชเลย คุณยายอาจารย์ฯ เกรงท่านจะพลาดพลั้งเสียสัจจะ วันหนึ่งจึงกล่าวเตือนสติท่านขึ้นว่า

      “คุณเด็จ คุณอยู่ทางโลกไม่ได้หรอกนะ เพราะคุณเป็นคนใจกว้างมีสมบัติอะไรคุณก็ให้เขาหมด ขืนมีครอบครัวก็จะลำบากเหมือนพระเวสสันดร” จากนั้นคุณยายอาจารย์ฯ จึงบอกต่อว่า

      “คุณเกิดมาเพื่อสร้างบารมีเท่านั้น บวชเสีย  แล้วจะประสบความสำเร็จทุกสิ่งอย่างที่ต้องการ คุณเป็นคนมีความเพียร คุณมีสิทธิ์จะรู้เห็นธรรมได้ เพราะฉะนั้นบวชเถอะ ยายจะกำหนดวันให้”

ดังนั้น หลวงพ่อทัตตชีโว จึงได้บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2514 โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพวรเวที เป็นพระอุปัชฌาย์

 แบบอย่างของครูบาอาจารย์อันประเสริฐ 

ชีวิตในเพศบรรพชิตของหลวงพ่อทัตตชีโว เป็นชีวิตที่ได้ทุ่มเทอุทิศชีวิตเพื่องานของพระพุทธศาสนามาโดยตลอด นับตั้งแต่พรรษาแรกจนผ่านมาถึง 50 พรรษา นอกจากการฝึกฝนตนเองให้งดงามตามพระธรรมวินัยแล้ว ท่านยังได้ทุ่มเททํางานตามมโนปณิธานที่มีมาแต่เดิมของหมู่คณะผู้บุกเบิกสร้างวัดนั่นคือ สร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระ และสร้างคนให้เป็นคนดีมีศีลธรรม ภารกิจหลักของท่านที่ได้รับมอบหมายจากหลวงพ่อธัมมชโยก็คือ ให้เป็นผู้รับผิดชอบดูแลการศึกษาอบรมของพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา และญาติโยมสาธุชนทั้งหลาย

ความที่หลวงพ่อทัตตชีโว ท่านเป็นคนใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา ช่างสังเกต ช่างวิเคราะห์หาเหตุหาผล จึงทำให้ท่านเป็นผู้รอบรู้เป็นผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ต่าง ๆ มากมายหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นใน เรื่องพระธรรมวินัย ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การบริหารองค์กร การก่อสร้าง การดูแลรักษาสุขภาพ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงมีคำกล่าวยกย่องเทิดทูนท่านในหมู่ลูกศิษย์ลูกหาทั้งฝ่ายพระภิกษุสามเณรและญาติโยมอุบาสกอุบาสิกาทั่วโลกว่า

       “หลวงพ่อทัตตชีโว ผู้เป็นครูบาอาจารย์ของพวกเราทั้งหลาย”

นี้ถือว่าเป็นคำกล่าวที่ตรงกับความเป็นตัวตนของท่านมากที่สุด

เพราะงานที่ท่านรักที่สุด ทุ่มเทที่สุด และทำได้ดีที่สุดก็คืองาน “ครู ด้วยเป็นที่กล่าวขานกันว่าคำสอนของท่านนั้น ลุ่มลึก ชัดเจน น่ารับฟัง ทั้งศีลาจารวัตรของท่านก็งดงาม สมกับผู้เป็นครูบาอาจารย์โดยแท้ คือเป็นทั้งผู้ “แนะ” และ “นำ” ให้แก่ศิษย์ทั้งหลายได้เป็นอย่างดี

นอกจากท่านจะเป็นผู้ที่รักธรรมะเป็นชีวิตจิตใจและเป็นผู้เลิศด้วย พรหมวิหารธรรมแล้ว ท่านยังเป็นผู้ที่มีความเคารพรักและกตัญญูต่อครูบาอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง อะไรที่เห็นว่าเป็นคำสั่งหรือความต้องการของครูบาอาจารย์แล้ว ท่านเป็นต้องรับอาสาทำสิ่งนั้นอย่างชนิดถวายหัวทุกครั้งไป ประกอบกับอุปนิสัยในการมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมของท่าน ไม่ว่างานเล็กงานใหญ่ หรืองานอะไรที่เป็นของหมู่คณะ ท่านไม่เคยดูดาย เป็นต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบด้วยทุกครั้ง ถือเป็นกำลังสำคัญในการสร้างวัดและการเผยแผ่พระศาสนาตลอดมา

จึงกล่าวได้ว่า นอกจากคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และ หลวงพ่อ ธัมมชโยแล้ว หากไม่มีหลวงพ่อ ทัตตชีโว อีกรูปหนึ่ง วัดพระธรรมกายก็คงยากจะก้าวมาได้ถึงวันนี้

 พระเผด็จ ทตฺตชีโว 

ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

President of Dhammakaya International Society of North America and Europe

เกิดเมื่อวันที่ : 21 ธันวาคม พ.ศ. 2483

สําเร็จการศึกษา : ด้านกสิกรรมและสัตวบาลบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และ Diploma of Dairy Technology จาก Hawkesbury College, Australia

อุปสมบท : เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2514 ณ พัทธสีมา วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร